ปลุกรัชดา-พระราม9 ผุดคอนโดฯใหม่พุ่ง2หมื่นล้าน

13 มี.ค. 2565 220 0

         ตลาดคอนโดฯอุ่นเครื่อง รอต่างชาติ - ชาวจีน ทะลักเข้าไทย ปลุกทำเลทอง รัชดา-พระราม 9 ฟื้น คอลลิเออร์ส เผย ปีนี้เปิดใหม่พุ่ง 2 หมื่นล. โนเบิล-ไซมิส-ริชี่ ปักธงรบ ผุดโครงการใหญ่หวัง 2 ปี เปิดประเทศเต็มตัว รับแรงซื้อ ขณะ SC  ปิดดีลใหญ่ เทียมร่วมมิตร คาดผงาดโครงการแพง

          ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19  โปรดักส์สำคัญของทำเล กรุงเทพมหานคร(กทม.) อย่าง คอนโดมิเนียม กลายเป็นตัวรอง ที่ถูกลดบทบาทลงอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่ง ก็เพราะการชะลอหายไปของลูกค้ากลุ่มใหญ่ชาวต่างชาติ เกิดภาพอสังหาริมทรัพย์ Zet zero การเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ หายไปนับ 60 -70% ตลอดปี 2563-2564

          อย่างไรก็ตาม เป้าหมายใหญ่ของประเทศไทยหลังโควิด คือ การกลับมาผงาด ในแง่ ‘เดสติเนชั่นระดับโลก’ เมืองเป้าหมายของการท่องเที่ยวและอยู่อาศัยระยะยาว รัฐบาลเปิดช่องเดินหน้า นโยบายกระตุ้นการเข้ามาอยู่อาศัย ของชาวต่างชาติ 4 กลุ่มมั่งคั่ง ซึ่งล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันเสียงแข็ง จะเดินหน้าต่อแน่นอน

          ความเคลื่อนไหวข้างต้น ฟื้นความเชื่อมั่นเหล่าดีเวลลอปเปอร์ได้อย่างดี ประเมินร่วม แม้ปี 2565 ตลาดคอนโดฯอาจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่ 2-3 ปีข้างหน้า คือ โอกาสทองของตลาดต่างชาติ ขณะทำเลเนื้อหอมอย่าง ‘พระราม 9 - รัชดาภิเษก’ ส่งสัญญาณกลับคึกคักร้อนแรงอีกครั้ง

          พิษโควิด ชาวจีนหนีกระเจิง

          นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส  ประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านอสังหาฯ เผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อดีตคอนโดฯ ย่านพระราม 9-รัชดา เป็นย่านที่กลุ่มนักลงทุนชาวจีน และประเทศในกลุ่มเอเชีย ให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากใกล้กับสถานทูตจีน มีกลุ่มผู้ซื้อและกลุ่มลูกค้าเช่า จากจีนและชาติอื่นๆ ลงทุนและอาศัยกันเป็นจำนวนมาก  ทั้งระยะสั้นและยาว ผ่านการรวมตัวกันซื้อเป็นบิ๊กล็อต เพื่อจะได้ราคาที่ถูกลง และบ้างก็ซื้อผ่านเอเจนซี่คนจีน ที่มาดีลกับโครงการ พบหลายโครงการขายดี มีโควตาต่างชาติเต็ม 49% และเคยร้อนแรงสุด ปี 2561 ที่มีการเปิดตัวคอนโดฯใหม่ มากกว่า 4,710 ยูนิต มูลค่าการลงทุนมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม ช่วงโควิด19 กำลังซื้อเหล่านี้แทบหายไป เกิดการทิ้งดาวน์ยูนิตที่เคยซื้อไว้ ทำให้ผู้พัฒนา ต้องนำยูนิตเหล่านั้น กลับมาขายใหม่ ทั้งที่เคยประกาศปิดการขาย 100% ไปแล้ว ส่วนนักลงทุนซื้อปล่อยเช่า ต้องพบกับการแข่งขัน ด้านราคาค่าเช่าที่ลดลงกว่า 40% บางรายเผชิญผู้เช่ายกเลิกสัญญาก่อนกำหนด อยากขายยูนิตออกไปแต่ไม่สามารถขายออกได้

          ฟื้นทำเลทอง 2 หมื่นล.

          อย่างไรก็ตาม ปี 2565 พบว่า ทำเลย่านพระราม 9-รัชดาภิเษก กลายเป็นทำเลที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง คาดจะมีเม็ดเงินการลงทุน เปิดโครงการใหม่เข้ามาในพื้นที่ ราว 2.1 หมื่นล้านบาท จากผู้พัฒนาฯรายใหญ่ และแต่ละโครงการเป็นบิ๊กโปรเจ็กต์ เช่น บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่จะเปิดตัวโครงการใหม่ ภายใต้แบรนด์  นิว โนเบิล ดิสทริค อาร์ 9 (Nue Noble District R9) มูลค่าโครงการประมาณ 6.2 พันล้านบาท จำนวน 1,441 ยูนิต และบริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการ กับโครงการ Landmark @MRTA เป็นมิกซ์ยูสที่พัฒนาขึ้นบนทำเลศักยภาพ ถนนพระราม 9 ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก และที่พักอาศัย โดยภายในโครงการนี้ ประกอบด้วย 3 อาคาร ได้แก่ อาคาร A สูง 18 ชั้น อาคาร B สูง 38 ชั้น, อาคาร C สูง 29 ชั้น รวมชั้นดาดฟ้า ขนาดพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 27-205 ตร.ม.

          “ณ สิ้นปี 2564 ราคาขายเฉลี่ยคอนโดฯในทำเลนี้ อยู่ที่ 1.55 แสนบาท ต่อ ตร.ม. ปรับเพิ่มปีละ 7% และมีบางโครงการที่ราคาขายเฉลี่ยสูงกว่า 2.5 แสนบาทต่อตร.ม.”

          ริชี่เพลซเปิดใหม่ใกล้เซ็นทรัล

          ศักยภาพของทำเลที่ไม่เป็น 2 รองใคร ขณะการเดินทางผ่านรถไฟฟ้าสะดวก เพียง 2 สถานีเชื่อมต่อ MRT กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว จุด อินเตอร์เชนจ์ สำคัญบริเวณอโศก และถัดจากพระราม 9 อินเตอร์เชนจ์ เชื่อมรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ประกอบกับทำเล แวดล้อมด้วยห้างฯดัง เซ็นทรัลพระราม 9, ฟอร์จูน ทาวน์ พระราม 9, เอสพลานาด, สถานฑูตจีน และอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ชั้นนำ  G tower, อาคาร ยูนิลิเวอร์ และ AIA  ทำให้การพัฒนาตึกสูง 2-3 ปี แล้วเสร็จ ยื้อเวลาใกล้เคียงกับคาดการณ์ว่าชาวต่างชาติ อย่างชาวจีนน่าจะกลับเข้ามาในไทยได้เต็มที่แล้ว กลายเป็นฝันครั้งใหม่ของอสังหาฯไทย

          โอกาสดังกล่าว ยังทำให้บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) ประกาศเตรียมเปิดตัวคอนโดใหม่ บนทำเลย่านนี้เช่นกัน ด้วยมูลค่าการพัฒนา ราว 2-3 พันล้านบาท ซึ่ง นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ริชี่เพลซ 2002 ซึ่งสวมหมวกนายกสมาคมอาคารชุดไทย เผยบริษัทเตรียมเปิดโครงการใหม่ บนทำเลนี้ พิกัด ใกล้เซ็นทรัลพระราม 9 ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ ซึ่งเป็นที่ดินเก่า (ปั้มแก๊ส ปตท.) ซื้อมาตั้งแต่ช่วง 3 ปีก่อนหน้า แต่ชะลอการลงทุนไปช่วงโควิด อุปสรรคหลักคือพาร์ทเนอร์ทุนจีนไม่สามารถเข้ามาเจรจาได้ ทั้งนี้ ประเมินว่า ในปีนี้ ช่วงครึ่งหลังของปีโควิดจะคลี่คลายและเปิดทางให้ต่างชาติกลับเข้ามาได้

          “ทำเลพระราม9 มีศักยภาพสูง ฮอตมาก ที่ผ่านมาบิ๊กอสังหาฯ เข้ามาผุดโครงการมากมาย เพราะจุดนี้ถือเป็นฮับที่อยู่อาศัยฯ มีดีมานด์คนทำงาน ชาวจีนชื่นชอบ และมีองค์ประกอบรองรับเกิน 100% ใครมาก่อนได้ก่อน คาดการเปิดตัวโครงการใหม่ของบริษัทจะไม่เป็นรองใคร “

          จับตาเอสซีผุดโครงการหรู

          ขณะข่าวคึกโครมในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้า ต่อการปิดดีลซื้อที่ดิน บริเวณถนนเทียมร่วมมิตร พระราม 9 ราว 725 ล้านบาท เนื้อที่ 2 แปลง รวม 5 ไร่ 3 งาน ของ บมจ.เอสซี แอสเสท ซึ่งแม้เป็นการซื้อภายในของตระกูลชินวัตร แต่ได้ตอกย้ำ ว่า ทำเลนี้จะกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง แน่นอนจากแผนพัฒนาโครงการใหม่ๆ และคุณภาพสูง

          ตามแผน เอสซี ระบุว่า จะนำไปพัฒนาโครงการอาคารชุดอยู่อาศัย โดยบริษัทเล็งเห็นว่าพื้นที่บริเวณถนนเทียมร่วมมิตรนั้น ตั้งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ และมีโอกาสทางธุรกิจที่ดี เพราะมีความต้องการที่อยู่อาศัยของลูกค้าชาวต่างชาติและเป็นแหล่งพื้นที่ของคนทำงาน จึงมีแนวโน้มที่ดี ทั้งในด้านความต้องการของตลาด และราคาที่แข่งขันได้ อันเป็นโอกาสทางธุรกิจทำให้บริษัทได้รับผลตอบแทนที่ดีจากโครงการสร้างอาคารชุดแห่งใหม่บนที่ดินดังกล่าว ทั้งนี้ คาดเป็นอีกบิ๊กโปรเจ็กต์ ที่ผลักดันเป้าหมายรายได้ 1 แสนล้านบาท ในปี 2568

ที่มา:

คลิกเครื่องหมาย เพื่อเพิ่มลงตะกร้าเก็บทรัพย์ที่สนใจ หรือกดอีกครั้งเพื่อลบออก
คลิกเพื่อเลือก บ้านที่ต้องการแล้วกดปุ่ม "เปรียบเทียบ" ได้เลย